7-92000-004-029/
ชื่อพื้นเมือง : หางนกยูงไทย จำพอ ซำพอ (แม่ฮ่องสอน) ส้มพอ (ภาคเหนือ)
ภูสีสร้อย (อีสาน)
ขวางยอย (นครราชสีมา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caesalpinia pulcherrima (L.) Sw.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE
ชื่อสามัญ : Barbados Pride , peacock Flower
ประโยชน์ : นิยมปลูกไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ เมล็ดในฝักดิบกินได้ โดยแกะเปลือกหุ้มเมล็ด
ซึ่งมีรสฝาดทิ้งเนื้อในมีรสหวานมันเล็กน้อย เป็นสมุนไพร ราก มีรสเฝื่อน
เป็นยาขับระดู แก้วัณโรคระยะบวม
ลักษณะของหางนกยูงไทย
- ต้นหางนกยูงไทย จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 1-2.5 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 3-4 เมตร ลำต้นแตกกิ่งกานสาขามาก เรือนยอดโปร่งเป็นทรงพุ่มกลม ลำต้นมีขนาดเล็ก กิ่งก้านสาขาที่ยังอ่อนอยู่จะเป็นสีเขียว ส่วนกิ่งที่แก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนเปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งก้านมีหนาม (บางพันธุ์ก็ไม่มีหนาม) ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งและวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทั่วไป จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ต้นหางนกยูงไทยมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ หมู่เกาะเวสต์อินดีส ในบ้านเราพบได้มากตามบ้านทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท หรือตามสวนสาธารณะริมทางก็มีให้เห็นบ่อย ๆ[1],[2]
- ใบหางนกยูงไทย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ลักษณะเป็นแผง ๆ ออกเรียงสลับ ใบย่อยมีประมาณ 6-12 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ผิวด้านหลังใบมีสีเข้มกว่าด้านท้องใบ[1]
- ดอกหางนกยูงไทย ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกบริเวณซอกใบ ปลายกิ่ง หรือตามส่วนปลายยอดของต้น ดอกย่อยจะมีจำนวนมาก ดอกมีหลายสีแยกไปตามสายพันธุ์ ได้แก่ สีส้ม สีแดงสีแดงประขาว สีชมพู สีชมพูแก่ สีเหลือง กลีบดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบดอกไม่เท่ากันหรือยับย่นเป็นเส้นเส้นลอนสีเหลือง ขอบกลีบดอกเป็นสีเหลือง มีเกสรอยู่กลางดอกเป็นเส้นงอนยาวโผล่พ้นเหนือดอกออกมา ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวมี 10 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน มีรังไข่เหนือฐานรองดอก ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นสีแดงสดเหมือนก้านชูอับเรณู ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เซนติเมตร สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2]
- ผลหางนกยูงไทย ออกผลเป็นฝักแบน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่แล้วจะแตกออก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 8-10 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างกลม[1],[2]
สรรพคุณของหางนกยูงไทย
- ดอกหางนกยูงสีเหลืองสามารถนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้อมเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันได้ (ดอกของต้นดอกเหลือง)[3]
- รากมีรสเฝื่อน นำมาต้มหรือฝนกินเป็นยาแก้วัณโรคในระยะที่สาม (การนำมาใช้เป็นยาโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ต้นที่มีดอกสีแดง) (รากของต้นดอกแดง)[1],[4]
- เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)[4]
- รากใช้ปรุงเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (รากของต้นดอกแดง)[1],[4]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้บวม (ราก)[4]
ประโยชน์ของหางนกยูงไทย
- เมล็ดในฝักสามารถนำมารับประทานได้ โดยแกะเอาเปลือกกับเมล็ดซึ่งมีรสฝาดทิ้งไป โดยเนื้อในเมล็ดจะมีรสหวานมันเล็กน้อย (เมล็ด)[2]
- ดอกสามารถนำมาใช้บูชาพระได้[3]
- นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดอกมีความสวยงาม ปลูกได้ในดินทุกชนิดและยังมีความทนทาน ปลูกง่ายและขึ้นง่าย และยังเหมาะที่จะปลูกเป็นรั้ว เพราะหางนกยูงไทยบางสายพันธุ์จะมีหนามและกิ่งก้านเยอะ สามารถปลูกเกาะกลุ่มเป็นแนวได้ดี[2]
- ในด้านความสำคัญทางเศรษฐกิจ สามารถปลูกเพื่อจำหน่ายต้นกล้าเพื่อเป็นไม้ประดับและจำหน่ายดอกเพื่อหารายได้เสริมให้ครอบครัวได้[3]
- นอกจากนี้ยังใช้ใบนำมาวางตามห้องหรือใกล้ตัวเพื่อป้องกันแมลงหวี่ หรือใช้ใบแห้งนำมาจุดไฟให้มีควันเพื่อไล่แมลงหวี่ได้[3]
| |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น